
อนุสาวรีย์สามบูรพาจารย์
“สามเสือเกษตร” เป็นฉายาที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ใช้เรียกแทนบุคคลทั้งสาม คือหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ หลวงอิงคศรีกสิการ และพระช่วงเกษตรศิลปการ ด้วยท่านเหล่านี้ล้วนมีคุโณปการต่อวงการเกษตรและต่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง โดยเป็นผู้วางรากฐานการเกษตรและการศึกษาด้านเกษตรศาสตร์ของประเทศไทย ถือได้ว่าทั้งสามท่านได้ร่วมกันทำงานอย่างหนัก ผลที่มีต่อประเทศชาตินั้นจึงไม่สามารถแบ่งแยกจากกันได้

พระพิรุณทรงนาค
พระพิรุณทรงนาค เป็นสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งอยู่ ณ บริเวณหน้าอาคารสุวรรณ วาจกกสิกิจ พระพิรุณองค์ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงฐานที่ตั้งให้สูงขึ้นจากเดิมประมาณ 1.35 เมตร พร้อมกับยกระดับบ่อน้ำพุกลางให้สูงขึ้นอีก 1 เมตร เพื่อให้มีความสง่างามและโดดเด่นยิ่งขึ้น โดยใช้งบประมาณรายได้จากส่วนกลาง เป็นจำนวนสองล้านเจ็ดแสนสองหมื่นบาทถ้วน และทำพิธีสักการะ องค์พระพิรุณ ไปเมื่อวันที่ 16 กรกฏาคม พ.ศ.2547


อาคารสารนิเทศ 50 ปี
อาคารสารนิเทศ 50 ปี เป็นอาคารสูง 10 ชั้น จัดสร้างขึ้นในวาระครบรอบ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเริ่มเข้าใช้อาคารเมื่อปี พ.ศ.2540 ส่วนบนดาดฟ้ามีธงชาติผืนใหญ่เพื่อเป็นการประกาศเฉลิมฉลองการการก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 7 ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันอาคารแห่งนี้ใช้เป็นอาคารบริหารและสำนักงานอธิการบดี
หออนุสรณ์ 60 ปี มก.
เป็นสิ่งก่อสร้างถาวรซึ่งแสดงถึงความหมายที่สำคัญของการพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นจุดรวมทางสายตา เน้นให้เห็นถึงความสง่างามสมเกียรติภูมิของมหาวิทยาลัย โดยมีลักษณะเด่นคือ ส่วนฐาน เปรียบเหมือนแผ่นดินอันเป็นต้นกำเนิดของพืชพรรณ ฐานสามเหลี่ยมใหญ่หมายถึงสามบูรพาจารย์ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฐานสามเหลี่ยมย่อยแทนคณาจารย์และบุคลากรที่ร่วมสร้างมหาวิทยาลัยจากอดีตไปจนถึงอนาคต ฐานตัวหอรูปหกเหลี่ยม หมายถึงวาระการครบรอบ 60 ปี ของมก. ส่วนหอ เปรียบเสมือนต้นข้าวอันเป็นตัวแทนของพืชพรรณซึ่งเติบโตขึ้นมาจากแผ่นดิน แล้วแตกยอดออกเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น สู่จุดสูงสุดที่ใช้ยอดสีทองแทนความหมาย ส่วนยอด บรรจุแก้วเจียระไนรูปสามเหลี่ยมปิรามิดฐานสี่เหลี่ยม เพื่อสะท้อนแสงในงานเฉลิมฉลองช่วงเย็นถึงกลางคืน ลวดลายฉลุ เป็นโลหะสีทองฉลุลวดลายพืชพรรณบ่อน้ำและปลา อันเป็นต้นกำเนิดของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลายดอกบัวให้ความหมายของการเรียนรู้และพัฒนาตนเองในการศึกษา

ศาลาหกเหลี่ยม
รูปทรงและชื่อของอาคารหลังนี้เลียนแบบเรือนไม้หลังเดิม ซึ่งเคยตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกันนี้ ศาลาหกเหลี่ยมหลังเดิม จัดสร้างขึ้นโดยแผนกทดลองและเพาะเลี้ยง กรมประมง เมื่อประมาณ ปี พศ.2490 เพื่อเป็นสถานที่อำนวยความสะดวกสำหรับประชาชนที่มาติดต่อขอซื้อพันธุ์ปลา ต่อมากลายเป็นที่พำนักพักผ่อนของชาว มก.ในยุคที่รถยนต์โดยสารสาธารณะยังมีบริการด้านถนนพหลโยธินเป็นหลัก และถูกใช้เป็นที่จอดรถจักรยานในเวลาต่อมา อาคารศาลาหกเหลี่ยมหลังใหม่เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542 สร้างขึ้นเพื่อแสดงเหตุการณ์สำคัญในประวัติของชาวเกษตร อันเนื่องด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อเป็นสถานที่จัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้ด้านการเกษตรและวิทยาการด้านต่างๆ

อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ
สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2528 สามารถจุได้ประมาณ 3,000 ที่นั่ง เดิมเป็นอาคารอเนกประสงค์ สำหรับใช้ในการแข่งขันกีฬา ปัจจุบันเป็นอาคารสำหรับ งานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร โครงการส่งเสริมความสามรถพิเศษภาคฤดุร้อน โครงการก้าวแรกสู่บัณฑิตยุคใหม่ โครงการเลือกแนวทางวางอนาคต ฯลฯ รวมทั้งยังเป็นสถานที่จำหน่ายและ รับสมัครการสอบวัดความรู้ เพื่อเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาอีกด้วย

สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร
เป็นหน่วยงานที่ให้บริการทางวิชาการในเรื่องของวิวัฒนาการและวัฒนธรรมการเกษตร และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จฯวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2538 และทรงเปิดอาคารอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2540 ด้านหน้าของกลุ่มอาคารปรากฏเห็นบุษบกมาลา ประดิษฐานพระนามาภิไธยย่อ “สธ.” เครื่องหมายแห่งสิริมงคลอันสูงสุดซึ่งมีความสง่างามอย่างยิ่ง ภายในกลุ่มอาคารประกอบด้วยโรงละครประเสริฐ ณ นคร ขนาดความจุ 500 ที่นั่ง เวทีแสดงกลางแจ้งพร้อมอุปกรณ์แสงสีเสียง นอกจากนี้ยังมีศูนย์ข้อมูล ห้องโถงสำหรับแสดงนิทรรศการชั่วคราวอีกด้วย